18256 จำนวนผู้เข้าชม |
ลาวตอนเหนือ แขวงหลวงพระบาง (Luangprabang Province)
เป็นแขวงทางตอนเหนือของประเทศ สมัยโบราณดินแดนนี้เป็นถิ่นฐานของชาวข่าเชื้อสายเขมร ขุนลอแห่งเมืองแถง (เดียนเบียนฟู) ทรงเห็นว่ามีชัยภูมิที่จะตั้งเป็นเมือง จึงขับไล่ชาวข่าออกไปและตั้งเมืองเซ่าขึ้นต่อมาพบแหล่งแร่ทองคำในเมือง จึงเปลี่ยนชื่อเป็นเชียงดง-เชียงทอง ถึงสมัยพระเจ้าฟ้างุ้มทรงรวบรวมแผ่นดินตั้งเป็นอาณาจักรล้านช้าง ได้สถาปนาเชียงดง-เชียงทองเป็นเมืองหลวง ให้ชื่อว่าเมืองศรีสัตนาคนุตมะราชธานีเมื่อ พ.ศ.1896 ในรัชสมัยของพระองค์ พระเจ้าแผ่นดินเขมรพระราชทานพระบางให้คณะธรรมทูตอันเชิญมายังล้านช้าง แรกประดิษฐานอยู่ที่เมืองเวียงคำเหนือเมืองเวียงจันทน์ ครั้นพระเจ้าวิชุนนะลาด (วิชุลราช) เสด็จขึ้นครองราชย์ ได้อัญเชิญมายงเมืองเชียงดง-เชียงทอง และเปลี่ยนชื่อเมืองเป็นหลวงพระบาง แปลว่า เมืองที่ประดิษฐานของพระบาง นับแต่นั้นมา
หลวงพระบาง (Luangprabang)
เป็นเมืองเอกของแขวง มีชื่อเป็นทางการว่า “นครหลวงพระบาง” แต่ประชาชนทั่วไปเรียกว่า “เมืองหลวง” เพราะเป็นอดีตราชธานีเก่าของอาณาจักรล้านช้างและที่ประทับของเจ้าชีวิต (พระเจ้าแผ่นดิน) ก่อนที่ลาวจะเปลี่ยนระบอบการปกครองมาเป็นสาธารณรัฐ ตัวเมืองหลวงพระบางตั้งอยู่ระหว่างแม่น้ำคานและแม่น้ำโขง เต็มไปด้วยวัดวาอาราม อาคารบ้านเรือนเก่าแก่ที่ยังคงรักษารูปแบบสถาปัตยกรรมแบบล้านช้างผสมยุโรป ผู้คนมีวิถีชีวิตเรียบง่าย ยึดมั่นในขนบธรรมเนียมประเพณีและพุทธศาสนาเป็นเหตุให้บ้านเมืองสงบ ร่มเย็นและงดงาม จนได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นเมืองมรดกโลกเมื่อ พ.ศ.2540
สถานที่ท่องเที่ยว
หากดูแผนที่จะเห็นว่าเมืองหลวงพระบางมีลักษณะเป็นเมืองเมืองอกแตก เพราะมีแม่น้ำใหญ่ไหลผ่าน แยกเมืองออกเป็นสองฝั่ง ฟากหนึ่งคือเมืองเก่าหลวงพระบาง เป็นที่ตั้งของพระราชวังหลวง วัดวาอาราม สถานที่ท่องเที่ยว มีชื่อ ที่พักและร้านอาหาร เป็นย่านเมืองที่เจริญ ส่วนอีกฟากยังคงมีวิถีชีวิตแบบชนบทลาวแท้ๆ เช่น บ้านเชียงแมน บ้านท่าโพ ฯลฯ
วัดเชียงทอง/เชียงทอง : เป็นวัดที่มีชื่อเสียงที่สุดและงดงามที่สุดในเมืองหลวง ตั้งอยู่บริเวณหัวแหลมที่แม่น้ำคานไหลมาบรรจบกับแม่น้ำโขง พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชโปรดให้สร้างขึ้นในราว พ.ศ. 2102/2103 ก่อนที่จะทรงย้ายราชธานีไปยังนครเวียงจันทน์ สิ่งที่โดดเด่นของวัดได้แก่โบสถ์หรือสิม สร้างตามแบบศิลปะล้านช้าง หลังคาสามชั้นลาดลดหลั่นลงมาเกือบจรดฐาน ผนังลงรักปิดทองเป็นเรื่องราวพุทธประวัติและทศชาดก พระประธานปางมารวิชัยซึ่งชาวพระบาง เรียกว่า พระพุทธทองสุก เป็นพระพุทธรูปโบราณอายุกว่า 400 ปี ด้านหลังโบสถ์มีหอเล็ก 2 หลัง ผนังทาสีชมพู ตกแต่งด้วยกระจกสีเป็นรูปคน สัตว์ บ้านเรือน ต้นไม้ เล่าเรื่องราวชีวิตความเป็นอยู่ของชาวลาวในอดีต ภายในวัดยังมีสถานที่น่าชมอีกแห่งคือ โรงพระราชรถหรือโรงโกศเมี้ยน เป็นที่เก็บราชรถและพระโกศของเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวงศ์ สร้างเมื่อพ.ศ.2505 รูปแบบทรวดทรงที่งดงามออกแบบโดยเจ้ามณีวงศ์ ส่วนลวดลายแกะสลักอ่อนช้อยประณีตเป็นฝีมือของเพี้ยตัน บรมครูด้านจิตรกรรมและประดิมากรรมของลาว (ค่าเข้าชม 5,000 กีบ)
วัดวิชุนนะลาด/วิชุลราช : พระเจ้าวิชุลราชทรงโปรดฯ ให้สร้างขึ้นในราว พ.ศ.2046 เพื่อประดิษฐานพระบาง ต่อมาพระมเหสีโปรดให้สร้างพระธาตุขึ้นในบริเวณวัดอีก 1 องค์ ลักษณะทรงโอคว่ำ คล้ายผลแตงโมผ่าซีกวางคว่ำลงบนฐาน จึงได้ชื่อว่าพระธาตุหมากโม พระธาตุแห่งนี้ได้รับการบูรณะในสมัยเจ้าชีวิตจักรินทร์และในสมัยเจ้ามหาชีวิตสว่างวัฒนาได้พบพระเจดีย์ทองคำ พระพุทธรูปทำด้วยทองคำ เงิน สำริดและวัตถุโบราณอื่นๆ มากมาย สิ่งของที่พบในพระธาตุนี้ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ในพิพิธภัณฑ์พระราชวังหลวงพระบาง
พูสี/ภูศรี : เป็นภูเขากลางเมืองสูงประมาณ 150 เมตร บนยอดเขามีพระธาตุพูสี ที่สร้างในสมัยพระเจ้าอนุรุทธราราว พ.ศ.2347 รอบพระธาตุทำเป็นทางเดินให้ชมทัศนียภาพโดยรอบของหลวงพระบาง สองข้างบันได 328 ชั้นขึ้นสู่พระธาตุที่ปลูกต้นลั่นทมเต็มไปหมด ได้กลิ่นหอมกรุ่น (ดอกลั่นทมลาว เรียกว่า ดอกจำปา เป็นสัญลักษณ์ประจำชาติ) พระธาตุพูสีเปรียบเสมือนหลักเมืองของหลวงพระบาง จนมีคำกล่าวว่า “ไปยามนครหลวงพระบาง ถ้าบ่ได้ขึ้นเบิ่งพูสีหรือขึ้นไปไหว้พระธาตุจอมสี เปรียบเสมือนกับว่าบ่ได้เห็นนครหลวงพระบางอย่างแท้จริง” (ค่าชม 8,000 กีบ)
วัดป่าฮวก/ป่ารวก : ตั้งอยู่เชิงพูสีทางด้านเหนือ ใกล้พิพิธภัณฑ์พระราชวัง วิหารทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ที่หน้าบ้านตกแต่งด้วยปูนปั้นลายดอกไม้และพระอินทร์ทรงช้าง ลักษณะโดยรวมคล้ายวิหารในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น
วัดพะบาด/พระบาท : ตั้งอยู่ติดแม่น้ำโขงทางด้านหลังของตลาด เป็นวัดญวนที่มีลักษณะผสมผสานระหว่างศิลปะเวียดนามและลาว เห็นได้ชัดตั้งแต่ซุ้มประตูมีชื่อวัดจารึกไว้ทั้งภาษาลาวและเวียดนาม ด้านหน้าวัดมีพระนอนขนาดใหญ่ ภายใต้ซุ้มประดิษฐานรูปพระพุทธเจ้าตอนเป็นทารก ในวิหารมีพระประธานปูนปั้นทาสี หน้าตาแบบพระญวนซึ่งออกไปทางจีน ด้านหลังวัดติดกับแม่น้ำรอยพระพุทธบาทอันเป็นที่มาของชื่อวัด ประดิษฐานอยู่ในอุโมงค์ก่อนอิฐถือปูน วักพะบาดเป็นจุดชมวิวพระอาทิตย์ตกที่สวยงามของหลวงพระบาง
วัดใหม่สุวันนะพูมาฮาม/ใหม่สุวรรณภูมาราม : เป็นวัดเก่าสันนิษฐานว่าสร้างในเมื่อ พ.ศ.2346 เคยเป็นที่ประทับของสมเต็จพระสังฆราชของลาวสมัยหนึ่ง พระอุโบสถสร้างด้วยไม้ กำแพงระเบียงด้านหน้าอร่ามงดงามด้วยงานรดน้ำปิดทอง เป็นเรื่องรามายณะและพระเวสสันดรชาดก ในช่วงเทศกาลขึ้นปีใหม่ลาว (สงกรานต์) ทางการจะอัญเชิญพระบางจากพระราชวังหลวงมาประดิษฐานที่วัดนี้เพื่อให้ประชาชนได้สักการะและสรงน้ำ (ตั้งอยู่ใกล้โรงแรมพูสีและที่ทำการไปรษณีย์)
วัดทาดหลวง/ธาตุหลวง : ตั้งอยู่แถบถนนพูว่าว สร้างขึ้นในรัชสมัยพระเจ้ามันตาทุราช เป็นที่ตั้งพระเจดีย์บรรจุพระอัฐิของเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวงศ์และราชนิกูลสายหลวงพระบาง พระธาตุหลวงผ่านการบูรณะมาหลายครั้ง ครั้งสุดท้ายมีขึ้นในปี พ.ศ.2519
วัดมะโนลม/มโนรมย์ : สันนิษฐานว่าเป็นวัดเก่าแก่ที่สุดในหลวงพระบาง สร้างในราว พ.ศ. 1918 พระประธานองค์ใหญ่ในโบสถ์ หล่อด้วยสำริดหนักประมาณ 2 ตัน ถูกทำลายเสียหายในสงครามย่างชิงดินแดนระหว่างไทย-ฝรั่งเศส ต่อมาทางการลาวหล่อซีเมนต์ซ่อมแซมส่วนแขนที่ชุรุด
วัดแสน หรือวัดแสนสุขาราม : เป็นวัดแบบศิลปกรรมไทย สร้างเมื่อ พ.ศ.2261 ในแผ่นดินของเจ้ากิ่งกฤษราช ตามประวัติเล่าว่าชื่อของวัดมาจากเงินจำนวน 100,000 กีบ ที่มีผู้บริจาคให้เป็นทุนเริ่มสร้าง วัดแสนนี้ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเมือง ใกล้กับโรงแรมวิลล่าสันติ บนถนนสักกะริน/สักรินทร์) ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นวัดที่นักท่องเที่ยวนิยมไปเยือน แต่ถ้าท่านมีเวลาและนิยมการเที่ยววัด ยังมีอีกหลายแห่งที่น่าสนใจฝั่งเมืองเก่า ได้แก่ วัดเชียงม่วน วัดหนองสีคูนเมือง วัดป่ามหาทาด วัดพะโพนพาวและวัดพะบาทไท ส่วนฝั่งบ้านเชียงแมนมีวัดที่น่าสนใจ ดังนี้ วัดฮ่องคุณ/ล่องคุณ อยู่ตรงข้ามฝั่งวัดเชียงทอง เพิ่งได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ภายในวิหารมีภาพทศชาติฝีมือเพี้ยเมืองกง มีตำหนักพระสังฆราชและตำหนักที่เจ้ามหาชีวิตต้องมาประทับศีลเป็นเวลา 3 วัน ก่อนจะเสด็จขึ้นครองบัลลังก์
วัดจอมเพ็ด/จอมเพชร : ตั้งอยู่บนเนินสูงใกล้วัดฮ่องคุน สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2431 โดยจมื่นไวยวรนารถ ภายหลังได้เป็นเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี) แม่ทัพสยามเมื่อครั้งนำทัพไปปราบฮ่อ เจดีย์ภายในวัดเป็นที่บรรจุอัฐิของเจ้าทองดี พระชายาในพระจ้าสักรินทร์
วัดเชียงแมน : สร้างโดยเจ้าหน่อแก้วกำมาน พระโอรสของพระเจ้าไชยเชษฐา มีซุ้มประตูตกแต่งด้วยงานปูนปั้นสวยงามมาก
หอพิพิธภัณฑ์พระราชวัง (หอคำ) : เดิมคือพระราชวังของเจ้ามหาชีวิตสายหลวงพระบาง จึงเรียกอีกชื่อว่า วังเจ้ามหาชีวิต สร้างเมื่อ พ.ศ.2447 ในสมัยเจ้ามหาชีวิตสว่างวงศ์ลักษณะเป็นอาคารชั้นเดียวยกพื้นสูง ศิลปกรรมแบบยุโรปผสมล้านช้างหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง รัฐบาลลาวใช้เป็นพิพิธภัณฑ์ จัดแสดงโบราณวัตถุและของมีค่า อาทิ บัลลังก์ ธรรมาสน์ เครื่องสูงและราชูปโภคของเจ้าชีวิต พระพุทธรูปและวัตถุโบราณของขวัญจากประเทศต่างๆ และที่สำคัญที่สุด คือ พระบาง พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง ประดิษฐานอยู่ในหอไตรทางปีกขวาของพระราชวังเป็นการชั่วคราวระหว่างการบูรณะหอพระบางที่ด้านหน้าของพระราชวัง โดยภายในหอไตรนี้ยังมีพระไตรปิฎกที่พระบาทสมเต็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เคยพระราชทานให้กษัตริย์ลาวด้วย (ตั้งอยู่ที่ถนนสีสะหว่างวงศ์ เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 08.00 – 11.00 น. และ 13.30 – 16.30 น. ต้องเสียค่าเข้าชม)
การเดินทาง : หลวงพระบางเปรียบเสมือนประตูสู่ภาคเหนือของลาว มีเส้นทางคมนาคมติดต่อทั้งทางบก ทางน้ำและทางอากาศกับเมืองอื่นๆ โดยรอบ
หลวงพระบาง-เวียงจันทน์ : มีรถโดยสารออกจากสถานีรถโดยสารสายใต้ (โทร. 71-252 066) ที่ตั้งอยู่ริมทางหลวงหมายเลข 13 ห่างจากตัวเมืองไม่ไกล ไปตามเส้นทางหลวงหมายเลข 13 ผ่านเมืองกาสี เมืองพูคูน วังเวียง สุดปลายทางที่สถานีรถโดยสารตลาดคัวแลง เวียงจันทน์ วันละ 5 เที่ยว ใช้เวลาทั้งสิ้น 10 ชั่วโมง ค่าโดยสารระหว่างหลวงพระบาง-วังเวียงระยะทาง 220 กิโลเมตร ใช้เวลา 8 ชั่วโมง ค่าโดยสาร 55,000 กีบ วังเวียง-เวียงจันทน์ ระยะทาง 160 กิโลเมตร ใช้เวลา 2-3 ชั่วโมง ค่าโดยสารคนละ 10,000 กีบ และหลวงพระบาง-เวียงจันทน์ ระยะทางประมาณเกือบ 400 กิโลเมตร ใช้เวลา 9-10 ชั่วโมง ค่าโดยสารคนละ 60,000 กีบ จองตั๋วได้ที่บริษัททัวร์หัวมุมถนน ตรงข้ามกับไปรษณีย์หรือใช้บริการรถสองแถวเหมาคัน (8 ที่นั่ง) ติดต่อที่คิวรถในตัวเมืองหรือสถานีรถโดยสารประจำทางนอกจากนี้ยังมีรถตู้แบบเหมาคัน เส้นทางหลวงพระบาง-วังเวียง คนละ 10 เหรียญสหรัฐฯ วังเวียง-เวียงจันทน์ คนละ 5 เหรียญสหรัฐฯ หรือหลวงพระบาง-เวียงจันทน์ คนละ 15 เหรียญสหรัฐฯ ติดต่อได้ที่เกสต์เฮาส์
หลวงพระบาง-อุดมไซ และหลวงน้ำทา : มีรถโดยสารประจำทางและสองแถวออจากสถานีรถโดยสารสายเหนือ (โทร. 71-252 729) ถึงปากมอง วันละ 2 เที่ยว ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง จากปากมองมีรถต่อไปยังอุดมไซใช้เวลา 2 ชั่วโมงเช่นกัน รถโดยสารวิ่งตรงจากหลวงพระบาง-อุดมไซ ระยะทาง 200 กิโลเมตร ใช้เวลา 4-5 ชั่วโมง ราคา 30,000 กีบ หลวงพระบาง-หลวงน้ำทา 45,000 กีบ หลวงน้ำทา-อุดมไซ ระยะทาง 170 กิโลเมตร วันละ 2 เที่ยว ราคา 18,000 กีบ รถมีบริหารน้อย เนื่องจากไม่ค่อยมีผู้โดยสาร การเดินทางไปหลวงน้ำทาหากสอบถามจากเอเย่นต์ขายตั๋วก็มักจะให้เที่ยวโดยสารในช่วงเวลากลางคืน เนื่องจากบริษัททัวร์จะได้ค่าตอบแทนมากกว่าตั๋วโดยสารช่วงกลางวัน ดังนั้นอาจจะดัดแปลงการเดินทางด้วยการนั่งรถในช่วงเช้าไปลงที่อุดมไซ แล้วจึงต่อรถไปยังหลวงน้ำทาก็ได้
หลวงพระบาง-หนองเขียว : มีรถสองแถวออกเดินทางทุกวัน ใช้เวลาประมาณ 4 ชั่วโมง ค่าโดยสาร 22,000 กีบ ขึ้นที่สถานีรถโดยสารสารเหนือ
หลวงพระบาง-เชียงขวาง (โพนสะหวัน) : มีรถโดยสารตามทางหลวงหมายเลข 7 วันละ 1-2 เที่ยว เฉพาะในฤดูแล้งเท่านั้น ใช้เวลา 7-8 ชั่วโมง ค่าโดยสาร 60,000 กีบ ขึ้นที่สถานีรถโดยสารสายเหนือ
หลวงพระบาง-เวียงคำ : มีรถวิ่งบริการวันละ 2 เที่ยว ใช้เวลา 5-6 ชั่วโมง ระยะทาง 18 กิโลเมตร ราคา 14,000 กีบ ขึ้นรถที่ท่ารถบ้านหนองไซ ค่าโดยสาร 20,000 กีบ ขึ้นที่สถานีรถโดยสารสายเหนือ
หลวงพระบาง-เวียงทอง : มีรถวิ่งวันเว้นวัน ค่าโดยสาร 20,000 กีบ ขึ้นที่สถานีรถโดยสารสายเหนือ
หมายเหตุ : การเดินรถโดยสารใน สปป.ลาว ไม่มีตารางตายตัวไม่ว่าจะเป็นเที่ยวรถและจุดแวะพัก ขึ้นกับจำนวนผู้โดยสาร สภาพถนนและสภาพอากาศ
ทางน้ำ
ปากขอน : เป็นท่าเรือข้ามฟากแม่น้ำโขงระหว่างหลวงพระบางกับเมือไซยะบูลิ รถบริการจากเมืองมายังท่าเรือมีอยู่ตรงข้ามสนามกีฬาแห่งชาติวิ่งวันละ 4 เที่ยว ใช้เวลาจากหลวงพระบางถึงปากซอน 3 ชั่วโมง เรือโดยสารจากปากซอนถึงไซยะบูลิ ใช้เวลา 40 นาที ราคา 1,000 กีบ
บ้านดอน : หรือท่าเฮือเมล์ เป็นท่าเรืองทางไกลของแม่น้ำโขง อยู่ห่างหลวงพระบาง 6 กิโลเมตร มีรถบริการรับ-ส่งอยู่ที่ปลายถนนเจ้าพะยาคังด้านตะวันตก มีเรือเร็ว (สปีดโบ๊ต) วิ่งบริหารจากหลวงพระบางไปยัง
- ห้วยซาย/ห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว : ด่านสากลของลาวตรงข้ามอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย เส้นทางวิ่งผ่านเมืองปากแบ่ง แขวงอุดมไซ ส่วนมากการเดินทางจะพักค้างที่ปากแบ่ง เส้นทางหลวงพระบาง-ห้วยซายระยะทาง 300 กิโลเมตร ค่าโดยสารเรือช้า 90,000 กีบ ใช้เวลา 2 วัน เรือเร็ว 180,000 กีบ ใช้เวลา 7 ชั่วโมง เส้นทางหลวงพระบาง-ปากแบ่ง ระยะทาง 160 กิโลเมตร ส่วนค่าโดยสารเรือช้า 48,000 กีบ ใช้เวลา 1 วัน เรือเร็ว 120,000 กีบ ใช้เวลา 4 ชั่วโมง ซื้อตั๋วที่ท่าเรือ
- เวียงจันทน์ แวะที่ท่าเดื่อและปากลาย : เรือช้า ราคา 130,000 กีบ ใช้เวลาประมาณ 3 วัน เรือเร็ว ราคา 210,000 กีบ ใช้เวลา 9-10 ชั่วโมงขึ้นอยู่กับระดับน้ำในแม่น้ำ
ทางอากาศ
สายการบินลาวมีเที่ยวบินภายในประเทศหลายเที่ยว เช่น ไป-กลับ เวียงจันทน์-หลวงพระบาง ทุกวันหลายเที่ยว เป็นต้น สอบถามได้ที่สำนักงานหลวงพระบาง ถนนวิชุนนะลาด (หรือ Lao Aviation Rd.) โทร. 71-212172-3 แฟกซ์ 212 406
จากประเทศไทย การบินไทยมีเที่ยวบินสู่หลวงพระบางจากกรุงเทพฯและเชียงใหม่ สอบถามได้ที่ โทร. 0-2628-2000 และสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส บินจากกรุงเทพฯ สู่หลวงพระบาง สอบถามได้ที่ 0-2265-5555
เบอร์โทรศัพท์น่ารู้
สำนักงานท่องเที่ยวหลวงพระบาง ถนนวิชุนนะลาด ตรงข้ามกับวัดวิชุนนะลาด โทร. 71-212 019
สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ถนนพระมหาปัฐสมาน โทร. 71-212 435
สนามบินนานาชาติหลวงพระบาง โทร. 71-212 173
สำนักงานสายการบินลาว ถนนพระมหาปัฐสมาน โทร. 71-212 172
อาหารการกิน
เมืองหลวงพระบางมีร้านอาหารมากมายหลายชาติ ล้วนแล้วแต่น่านั่ง โดยเฉพาะพวกร้านเบเกอร์รี่ ร้านอาหารประจำของทัวร์คือร้านวิชุน ตั้งอยู่หน้าวัดวิชุนนะลาด เปิดทุกวัน ตั้งแต่ 07.30-22.00 น.
ถ้าชอบอาหารพื้นเมืองจำพวกแจ่วบอง เอาะหลาม ตำหมากหุ่ง ข้าวเปียก เฝอ มีขายที่ตลาดเช้าและตามร้านข้างถนนทั่วไป ร้านเฝอเจ้าอร่อยอยู่ตรงข้ามสำนักงานสายการบินลาว
สลัดผักน้ำที่ใหม่สดไร้สารพิษ ร้านที่ขึ้นชื่อคือร้านอาหารแคมคานที่ให้บรรยากาศของแม่น้ำคานที่งดงาม สลัดผักน้ำที่หลวงพระบางนั้นอร่อยเกือบทุกร้านและนับเป็นอาหารที่มีเอกลักษณ์ของหลวงพระบางที่ห้ามพลาด
ร้านขายข้าวเปียกที่ขึ้นชื่อคือร้านป้าจุง ขายข้าวเปียกหรือข้าวต้มกระดูกหมู เป็นร้านเล็กๆ ตรงข้ามมะโนเกสต์เฮาส์และร้านริมถนนข้างวัดใหม่สะวันนะพูมาฮาม
ร้านมาลี ตั้งอยู่บนถนนพูว่าว เยื้องกับไชยชนะเกสต์เฮาส์ เป็นร้านที่ขึ้นชื่อเรื่องอาหารพื้นเมือง เช่น เอาะหลามไก่ ซุปผักหลวงพระบาง ก้อยปลา ฯลฯ
ถ้าหากอยากทานอาหารที่หรูขึ้นมาอีก ต้องไปกินที่โรงแรมวิลล่าสันติซึ่งมีอาหารตำรับชาววังหลวงพระบาง พร้อมการแสดงรำและโขนให้ชม
หากต้องการชมบรรยากาศริมน้ำแถบเลียบริมโขง มีร้านกาแฟขึ้นชื่อที่นักท่องเที่ยวไม่ควรพลาดคือร้านประชานิยม เหมาะสำหรับการนั่งพูดคุยและทานกาแฟหรือโอวัลตินในตอนเช้า มีข้าวจี่และข้าวเหนียวสังขยาไว้ให้กินเล่นกับกาแฟหรือจะเลือกสั่งเฝอจากร้านข้างๆ มาทานก็ได้
กาแฟปากเซหรือโบโลเวนคอฟฟี่ เป็นกาแฟขึ้นชื่อของลาว ปลูกบนที่ราบสูงโบโลเวน หรือบ่อละเวน ซึ่งอยู่ทางเหนือของปากเซ บริเวณตอนใต้ของประเทศลาว ซึ่งเป็นพื้นที่มีอากาศเย็นสบายและมีดินภูเขาไฟที่อุดมสมบูรณ์มาก โดยเดิมชาวฝรั่งเศสเป็นผู้นำเข้ามาปลูก หากมีโอกาสไม่ควรพลาดการลองชิมกาแฟที่รสชาติเข้มข้นและหอมกรุ่น
แซนด์วิชลาวแบบดั้งเดิม ใช้ขนมปังฝรั่งเศสฝ่าครึ่ง ทางแจ่วบอง แล้วใส่หมูยอหั่นชิ้นหรือหมูสับคั่วกรอบลงไป บางครั้งอาจจะโรยซอสพริกหรือซอสภูเขาทองลงไปด้วย มีขายทั่วไปที่ตลาดเช้าหรือโต๊ะริมทอง ราคาอันละ 2,000-3,000 กีบ แต่แซนด์วิชลาวเจ้าอร่อยคือร้าน Lao Sandwich ของป้าสุมน เป็นบ้านที่มีโต๊ะให้นั่งคุยกันได้ อยู่ตรงข้ามวัดใหม่สุวันนะพูมาฮาม มีทั้งแซนด์วิชแบบลาวแท้และแบบดัดแปลง ทาปาเต้ ตับบด ใส่หมูสับคั่วหรือไข่ต้ม และวางมะละกอดองไว้บนสุดแก้เลี่ยน นอกจากนี้ยังมีแบบฝรั่งคือใส่เนยแข็ง มะเขือเทศ ผักสลัด แยม น้ำผึ้ง กล้วยหรือน้ำตาล หลากหลายแบบให้เลือก โดยราคาจะแพงกว่าที่วางขายรินถนนเล็กน้อย
ด้านริมโขงมีอาคารชั้นเดียวหลายแห่งเปิดเป็นห้องอาหารแบบนานาชาติและร้านอาหารเล็กๆ แบบสวนอาหารอยู่หลายแห่ง รับทำอาหารตามสั่งทั้งอาหารไทยและลาว รสชาติดีแต่ราคาอาจสูงไปบ้าง บริเวณริมแม่น้ำโขงนี้ในเวลาค่ำเป็นสถานที่นิยมนั่งดื่มเบียร์ลาวแกล้มด้วยปลาทอดหรือจะเลือกจิบไวน์พื้นเมืองของหลวงพระบางที่เรียกว่า เหล้าข้าวก่ำ ซึ่งทำมาจากข้าวเหนียวดำของบ้านซ่างไหหรือบ้านช่างไหที่มีชื่อเสียงก็ได้
ยามค่ำคืนหากหิวขึ้นมาที่ถนนเจ้าพะยาคังมีตลาดโต้รุ่งเล็กๆ ให้เดินชมและหาของอร่อยๆ ทานด้วย
แหล่งช้อปปิ้ง-สิ่งของน่าซื้อ
ตลาดเช้าหลวงพระบาง : อยู่ริมแม่น้ำโขง ใกล้ที่ทำการไปรษณีย์มีสินค้าจำเป็นในชีวิตประจำวัน ทั้งเครื่องนุ่งห่ม กระเป๋า รองเท้า เครื่องประดับที่ทำจากทอง นาคและเงิน แต่จะหนักไปทางอาหารทั้งของสดและของแห้ง เช่น ไคแผ่น ข้าวจี่ รวมทั้งเป็นแหล่งอาหารเช้าที่น่าสนใจ เช่น คั่วหมี่ กาแฟนม (กาแฟเย็น) ข้าวจี่ย่างจิ้มแจ่วบอง ไส้อั่ว ฯลฯ
ตลาดโพสี/โพธิ์ศรี : ตลาดเช้าแบบสมัยใหม่ในอาคารซีเมนต์ เป็นตลาดขนาดใหญ่ ขายอาหารสดและอาหารแห้งมากมาย
ตลาดม้ง : อยู่ไม่ไกลจากตลาดเช้า จำหน่ายสินค้าชาวเขา ส่วนมากเป็นผ้าทอปักสวยงามที่ตัดเย็บเป็นเสื้อผ้าและเครื่องใช้ เช่น ย่าม กระเป๋า ปลอกหมอน ฯลฯ เครื่องเงิน งานแกะสลัก การซื้อสินค้าที่ตลาดนี้ต้องตาถึงเลือกให้ได้ของดีและใจถึงต่อให้ได้ราคาสมเหตุสมผล เปิดขายช่วงสายๆ ถึงช่วงเย็น
ตลาดดาลา : ตั้งอยู่ที่หัวมุมถนนเสดถาทิราดกับถนนเจ้าศรีสุพน เป็นที่รวมร้านค้าเล็กๆ ประมาณ 400 คูหา จำหน่ายสินค้าพื้นเมืองและของที่นำเข้าทั้งเครื่องใช้ภายในครัวเรือน เสื้อผ้า งานหัตถกรรม อาหารแห้ง ฯลฯ ปัจจุบันมีการรื้อปรับปรุงตลาดดาลาใหม่ แล้วตัวตลาดได้ย้ายไปตั้งที่บริเวณใกล้เคียง
ตลาดมืด : เป็นถนนช้อปปิ้งตอนเย็น ด้วยการปิดถนนถนนข้าวเหนียวหรือถนนเจ๊ก ที่รู้จักกันในชื่อถนนสีสะหว่างวงศ์ เพื่อวางของตั้งแต่ช่วงเย็นไปจนถึงกลางคืน ราว 17.00-22.00 น. เป็นแหล่งรวมสินค้าพื้นเมืองโดยเฉพาะผ้าซิ่น ผ้านุ่ง ผ้าคลุมไหล่ กระเป๋า เครื่องประดับ ฯลฯ ทำนองเดียวกับไนต์บาซาร์ที่เชียงใหม่ ควรต่อรองราคาลงมาพอสมควรหรือเดินดูร้านด้านในเสียก่อนเพราะราคาอาจจะต่างกันมาก
ทิดเพ็ง มณีโพน : บ้านวัดทาด เยื้องโรงแรมสุวันนะพูม อดีตช่างเงินประจำราชสำนักหลวงพระบางพัฒนาพูผาแอนทีกเฮาส์ เลขที่ 29/4 บ้านวิชุน จำหน่ายวัตถุโบราณนานาชนิดจากกรุสะสมส่วนตัวและผ้าทอของชนเผ่าต่างๆ ในลาว
บ้านผานม (Ban Phanom) : อยู่ห่างจากตัวเมือง 3 กิโลเมตร เป็นหมู่บ้านชาวไทลื้อที่อพยพมาจากสิบสองปันนา ตั้งแต่ปี ค.ศ.1347 อยู่บริเวณริมน้ำคาน ผู้หญิงจะมีความผูกพันกับการทอผ้า ปัจจุบันหันมาทอเพื่อการจำหน่ายผ้าพื้นเมือง มีทั้งผ้าฝ้าย ผ้าไหม ลวดลายเฉพาะแบบหลวงพระบาง
แหล่งน่าเยือนชานเมือง
ปากแม่น้ำอู
จากหลวงพระบางไปตามแม่น้ำโขงประมาณ 40 กิโลเมตร มีถ้ำบนหน้าผาหินปูน 2 ถ้ำ เรียกว่า ถ้ำติ่ง ตามประวัติว่าเมื่อพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชเสด็จกลับจากเชียงใหม่ โปรดให้ก่อนสร้างตกแต่งถ้ำและนำพระพุทธรูปมาประดิษฐานเป็นอนุสรณ์แห่งสัมพันธไมตรีระหว่างล้านช้างหลวงพระบางกับล้านช้างเชียงใหม่ ต่อมาทุกๆ วันปีใหม่ลาว วงหลวงพระบางจะนำพระพุทธรูปมาไว้ในถ้ำ ถือว่าเป็นการทำบุญที่ยิ่งใหญ่ เป็นเหตุให้ถ้ำทั้งสองมีพระพุทธรูปหลากขนาดชนิด ทั้งพระพุทธรูปไม้ ปูนปั้นและสำริด แออัดเต็มไปหมด ระหว่างทางไปยังถ้ำติ่งมีจุดท่องเที่ยวที่น่าแวะคือ บ้านซ่างไหตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขง ชาวบ้านที่นี่ต้มเหล้าจากข้าวเหนียวขาวและแดง กลิ่นหอม รสออกหวานและดีกรีสูง ราคาขวดละประมาณ 100 บาท บ้านถิ่นโฮงจากการสำรวจเมื่อไม่นานมานี้ได้พบถ้ำที่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ย้อนหลังไปเกือบ 8,000 ปี เช่น เครื่องมือทำด้วยหิน สำริดและโลหะเครื่องปั้นดินเผา เศษผ้าและกะโหลกมนุษย์
(การเดินทาง มีเรือเช่าเหมาลำที่ท่าเรือหลังพิพิธภัณฑ์พระราชวังเรือสปีดโบ๊ตจากท่าเรือบ้านดอนหรือจะนั่งรถมาลงที่บ้านซ่างไห บ้านปากอูและนั่งเรือข้ามฟากไปยังถ้ำ)
บ้านพะนม/ผานม
เป็นหมู่บ้านของชาวไทลื้อ ที่อพยพมาจากสิบสองปันนาเมื่อราว พ.ศ.1917 แรกเริ่มอยู่ที่เชิงพูว่าว ต่อมาจึงได้ขยับขยายมาอยู่ที่บ้านผานมในปัจจุบัน หมู่บ้านนี้มีชื่อเสียงเรื่องทอผ้า อยู่ห่างจากเมืองหลวงพระบางประมาณ 4 กิโลเมตร เลยวัดป่าโพนไปเล็กน้อย ใกล้ๆ กับบ้านผานมมีจุดให้แวะชมอีกแห่ง คือ สุสานหมูหดหรือหลุมฝังศพของอองรี มูโอต์ (Henri Mouhot) นักสำรวจชาวฝรั่งเศส ผู้ทำให้ชาวตะวันตกได้รู้จักนครวัด นครธม เสียชีวิตที่เพิงพักริมแม่น้ำคานเมื่อ พ.ศ.2404 ขณะเดินทางมาสำรวจเมืองหลวงพระบาง (การเดินทาง เรียกรถสองแถวหรือรถสามล้อจากตลาดในเมืองมาได้)
ตาดกวางสี
เป็นน้ำตกตั้งอยู่บนที่สูงจากระดับน้ำทะเล 560 เมตร ห่างจากตัวเมือง 32 กิโลเมตร เกิดจากต้นน้ำหลายสายรวมตัวเป็นน้ำตกสูง 81 เมตร บริเวณตัวน้ำตกชั้นล่างทำเป็นสวนสาธารณะ มีลานพร้อมโต๊ะให้นั่งพักผ่อนและรับประทานอาหาร ชั้นที่สองมีแอ่งน้ำกว้างใหญ่สามารถว่ายน้ำได้ จากชั้นสองมีทางปีนขึ้นไปถึงยอดแต่ลื่นมาก เมื่อปลายปี พ.ศ.2545 ชั้นบนของน้ำตกที่ยื่นออกมาได้ถล่มลงมา ทำให้มีกองของหินปูนที่เกิดจากน้ำตกถล่มอยู่ด้านหน้า แต่ทัศนียภาพของน้ำตกก็ยังคงงดงามเช่นเดิม เสียค่าเข้าชม
ตาดแส้
น้ำตกนี้อยู่ที่บ้านน้ำเอน บริเวณที่น้ำคานไหลลงห้วยแส้ ขนาดน้ำตกกว้างแต่เตี้ยกว่าตาดกวาง การเดินทางไปชมน้ำตกแห่งนี้ต้องเหมารถไปเวลาที่เหมาะคือเดือนสิงหาคม-พฤศจิกายน
การเดินทางมาเที่ยวหลวงพระบาง